วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

วันสบายๆ ที่ น้ำเชี่ยว

วันสบายๆ ที่ น้ำเชี่ยว
 
ฤดูหนาวผ่านไปอย่างรวดเร็วค่ะ แผล็บเดียวอากาศร้อนๆ ก็มาเยือน ครั้นจะเดินทางไปไกลๆ ก็กลัวว่าคุณผู้อ่านจะสัมผัสกับอากาศร้อนจนอาจเกิดอาการไม่สบายตัว
พาลอารมณ์เสียก่อนจะถึงที่หมาย ทริปนี้ตัวเล็กจึงพาไปเที่ยวแบบสบายๆ ไม่ใกล้ไม่ไกลที่ “บ้านน้ำเชี่ยว” จังหวัดตราดกันค่ะ
     “บ้านน้ำเชี่ยว” อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เป็นชุมชนไทยพุทธและไทยมุสลิมริมฝั่งทะเล มีพื้นที่ติดกับป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์หลายสิบไร่ ที่ทำให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด รวมถึงคนในชุมชนได้อาศัยจับสัตว์น้ำเหล่านั้นดำรงชีพ
      และด้วยความสมบูรณ์นี้เองจึงทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์พร้อมที่พักสัมผัสวิถีชีวิตและธรรมชาติหรือ “โฮมสเตย์บ้านน้ำเชี่ยว” ขึ้น ที่สำคัญที่นี่ยังได้รับ“รางวัลกินรี ปี 2010” จาก ททท.มาหมาดๆ จึงทำให้บ้านน้ำเชี่ยวเป็นอีกแหล่งในการมาท่องเที่ยวและพักผ่อนที่ไม่ควรพลาดของผู้ที่ชอบความสงบ เรียบง่าย ในวันผ่อนคลายสบายๆ สำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์
     กิจกรรมของที่นี่ไม่ได้หวือหวาหรือลุ้นระทึกมากค่ะ แต่เป็นการระเลียดชมความงามของธรรมชาติในแบบที่มันเป็น รวมถึงการได้สัมผัสวิถีชีวิตคนในชุมชนเท่าที่คุณจะต้องการ
     “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน” แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติริมชายฝั่ง อยู่บริเวณท้ายชุมชนจุดเชื่อมต่อป่าโกงกาง และพรรณไม้อื่นๆหลายสิบไร่ รวมถึงลำคลองหลายสายที่ไหลผ่านไปบรรจบลงสู่ทะเล ภายในศูนย์ฯมีการจัดป้ายความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้และสัตว์เป็นระยะ ทำให้นอกจากจะมาเดินสูดอากาศบริสุทธิ์ ชมความสมบูรณ์ของป่าแล้ว ยังได้เกร็ดความรู้กลับไปด้วย เดินมาสักระยะหากอยากนั่งพักริมน้ำก็สามารถเดินเลี้ยวซ้ายไปบริเวณลานพักขนาดใหญ่ ซึ่งจะมองเห็นเส้นทางน้ำออกสู่ท้องทะเลผ่านป่าโกงกางหนาทึบได้อีกด้วยค่ะ
     ไม่เพียงในศูนย์ฯ จะชมพรรณไม้ต่างๆ ได้เท่านั้น หากเดินมาตามเส้นทางจนสุดสะพานไม้ในศูนย์ จะพบกับ “หอดูนก” สูงสี่ชั้น ที่สามารถขึ้นชมส่องดูนกที่มีสายพันธุ์กว่า 30 ชนิด รวมทั้งยืนชมผืนป่าสีเขียวที่ทอดตัวสุดสายตาได้อย่างเต็มอิ่ม
     ความอุดมสมบูรณ์แห่งนี้จัดได้ว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ที่สัตว์ริมทะเลทั้งในน้ำ บนท้องฟ้าและคนบนบกอย่างเราๆ ได้อาศัยเลี้ยงปากท้อง ดูได้จากระหว่างทางจะพบทั้งปูแสม ลิงแสม ปลาต่างๆ รวมถึงสารพัดนกไม่ว่าจะเป็นเหยี่ยวแดง นกเขาเปล้า และชนิดอื่นๆ สาวกนักดูนกไม่ควรพลาดค่ะ
     สำหรับท่านที่ชอบท้องทะเลกันบ้าง สามารถนั่งเรือหางยาวออกไปดูการทำประมงชายฝั่ง ทั้งวางลอบปูปลา ดูการเลี้ยงหอย หรือจะสนุกกับการลงเก็บหอยปากเป็ด หอยรูปทรงแปลกมีฝาแบนๆ สีเหลี่ยมๆ ปิดส่วนหัวและลำตัวปล่อยหางยาวกระดุกกระดิ๊ก(ต้องไปดูค่ะ แปลกดี) ก็สนุกไม่เบาค่ะ หรือจะไปดูครอบครัวลิงแสมเจ้าถิ่นผืนป่าชายเลนที่ออกมาด้อมๆ มองๆ เหล่านักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็สามารถนัดแนะเวลากับทางโฮมสเตย์ ให้พาไปดูได้เลยค่ะ
     มาถึงกิจกรรมรอบดึกค่ะ หลังจากทานอาหารอร่อยๆ ในมื้อเย็น ช่วงเวลาสักประมาณหกโมงเย็นถึงสองทุ่ม ลองจับกลุ่มล่องเรือออกมาตามแนวป่า เราจะสังเกตเห็นเป็นจุดดำๆ อยู่ตามกิ่งโกงกางเป็นจำนวนมาก แรกๆ จะมองไม่รู้ค่ะ แต่พอลองส่องไฟเข้าไปใกล้ๆ ก็จะเห็น “ฝูงกา” จำนวนนับพันตัวเกาะอยู่ พวกมันอาศัยผืนป่าเป็นรังนอน รวมถึงอาจได้เห็นหิ่งห้อยที่เรืองแสงอยู่ตามกิ่งก้านลำแพนโกงกางท่ามกลางสายลมเย็นๆ ก่อนจะกลับมาพักที่โฮมสเตย์ ยิ่งทำให้รู้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติจริงๆ ค่ะ
     หลังจากล่องเรือชมฝูงกามาแล้ว ก็มาถึงที่พักบ้างค่ะ “บ้านน้ำเชี่ยวโฮมสเตย์” เป็นบ้านไม้ขนาดกลางดูกระทัดรัด สะอาด จัดตกแต่งเรียบๆ ง่ายๆ ค่ะ เหมาะสำหรับมาพักเป็นกลุ่มเล็กๆ ต่อหนึ่งหลัง 4-5 ท่านกำลังดี (หรือจะมากกว่านี้ก็ได้ค่ะถ้าไม่กลัวอึดอัด) ซึ่งกลุ่มโฮมสเตย์มีทั้งหมด 9 หลังด้วยกัน ทั้งห้องพัดลมและแอร์ อยู่กับบรรยากาศเงียบสงบ แต่ร่มรื่นไปด้วยธรรมชาติขนาดใหญ่ของป่าไม้ชายเลน รวมถึงได้ทานอาหารอร่อยๆ กับวัตถุดิบจากท้องทะเลสดๆ ซึ่งที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นเมนูอาหารทะเลค่ะ อาทิ ปลาทูทอดเหลืองกรอบ น้ำพริกกะปิ ต้มส้มพริกสดปลาทู ผัดผักกุ้งสดๆ หากไปช่วงวันสำคัญอย่างเช่นวันฮารีรายอ (ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับวันปีใหม่หรือวันตรุษจีน) ก็จะได้ทานอาหารที่มีกรรมวิธีพิถีพิถันอีกสักหน่อย อย่างเช่น มัสมั่นไก่หรือเนื้อรสอร่อยเข้มข้น ขนมหวานหลากชนิดที่ทำกันเองในแต่ละบ้าน ซึ่งจะมีให้ทานกันไม่บ่อยนัก
     มาถึงผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของที่นี่ค่ะ โดยเฉพาะ “งอบน้ำเชี่ยว” ซึ่งมี 5 รูปทรงตามแบบฉบับงอบน้ำเชี่ยว ถือเป็นงานฝีมือคุณภาพดีที่สืบต่อมาหลายชั่วอายุ ผลิตจากใบจากที่เก็บจากป่าริมตลิ่งนี่เองค่ะ ไม่ต้องซื้อหาแค่ลงแรงและใส่ใจทำออกมาให้ได้รูปทรงน่าใช้ ออกแบบให้เหมาะกับลักษณะงานที่ต้องสวมใส่ ซึ่งการทำงอบนี้ได้จัดเป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสนุกประชันฝีมือและความปราณีตกัน และเป็นของที่ระลึกกลับบ้านอีกด้วยค่ะ (ไม่ยากค่ะต้องลอง)
 ส่วนใครที่ต้องการมาเที่ยวชมประเพณีประจำปีสนุกๆ ของบ้านน้ำเชี่ยว “การแข่งพายเรือลำไม่ไผ่” แนะนำให้มาช่วงเดือนพฤศจิกายนค่ะ จะสนุกจะฮาขนาดไหนนั้นต้องไปดูค่ะ เพราะฝีพายของเรานั้นได้ลำไม้ไผ่ลำตรงเป็นไม้พาย จะกินน้ำลึกขนาดไหนจะพายเข้าเส้นชัยได้อย่างไรนั้น ถ้าไม่ฝึกปรือฝีมือให้ดีมีบ๊วยไปครองค่ะ
สนนราคาเข้าพัก 2 วัน 1 คืน รวมอาหารและโปรแกรมท่องเที่ยวประมาณ 800 บาทเท่านั้นเองค่ะ (ราคาสบายกระเป๋ามาก) หากต้องการทานซีฟู๊ดเป็นปูม้านึ่ง กุ้งต้ม ปลาหมึก ปลากระพง ก็สามารถสั่งเพิ่มได้ในราคาไม่แพงค่ะ(ขึ้นอยู่กับฤดูกาลของช่วงที่ไปด้วยนะคะ)
สำหรับท่านที่นำรถมาเอง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3148 (ตราด-แหลมงอบ) หรือมาด้วยรถบัสประจำทางสายกรุงเทพ-ตราด ราคาประมาณ 250 บาท ใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง มาลงที่บขส.ตราด จากนั้นเหมารถสองแถวมาลงที่บ้านน้ำเชี่ยว ราคาประมาณ 100 บาท รถก็จะพามาจอดที่สะพานใกล้ทางเข้าเทศบาลน้ำเชี่ยว จากนั้นโทรติดต่อโฮมสเตย์เพื่อเข้าที่พักได้เลยค่ะ
 เที่ยวสบายๆ ในสไตล์น้ำเชี่ยว ติดต่อคุณสุรัตนา ภูมิมาโนช บ้านน้ำเชี่ยวโฮมสเตย์ 42 หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โทรศัพท์ 084-8925374
อ้างอิง http://www.tourvtthai.com/2557/travel/287




ป่าชายเลนบ้านน้ำเชี่ยว

             ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว

ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว


     แม้จะยังอยู่ในหน้าฝน แต่ก็ยังพอมีสถานที่ริมทะเลให้เที่ยวได้อยู่ครับ สัมผัสถึงวิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนเก่าแก่ของไทย และรายล้อมไปด้วยธรรมชาติของป่าชายเลน ศึกษาวิถีชีวิตสัตว์อันหลากหลาย แถมที่นี่ยังขึ้นชื่อเรื่องการทำงอบของ จังหวัดตราด ชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านน้ำเชี่ยว เป็นชุมชนชาวพุทธและมุสลิมที่รักใคร่กลมเกลียว ซึ่งชาวบ้านได้ตั้งรกรากในชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
      นอกจากจะเป็นชุมชนเก่าแก่แล้ว ยังความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลการันตีมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘ชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว’ จาก ททท. ในปี พ.ศ. 2550 และรางวัล 'อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย' (กินรี) ครั้งที่ 8 ประจำปี พ.ศ. 2553 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
ท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว  บ้านน้ำเชี่ยว อยู่ในอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เป็นชุมชนไทยพุทธและไทยมุสลิมริมฝั่งทะเล มีพื้นที่ติดกับป่าชายเลนที่ อุดมสมบูรณ์หลายสิบไร่ ที่ทำให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด รวมถึงคนในชุมชนได้อาศัยจับสัตว์น้ำเหล่านั้นดำรงชีพ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ผสานกับการสืบสานวัฒนธรรมชุมชนสองศาสนา มีประเพณีวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่หลากหลาย ก่อเกิดนักท่องเที่ยวเข้ามาทำกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชน
     โดยสามารถชมความงามของธรรมชาติในแบบที่เป็นอยู่จริง ๆ ของชุมชนป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ศึกษาทั้งวิถีชีวิตและธรรมชาติไปพร้อม ๆ กันในคราวเดียว ทริปนี้เราก็เน้นการถ่ายภาพเช่นเคยครับ ลองหลับตานิ่งฟังสรรพเสียงรอบกายที่ไม่วุ่นวายเร่งร้อนเหมือนในเมืองกรุง ค่อย ๆ ละเลียดความงามจากสายตาของเราหรือจะหลังเลนส์ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด นี่แหละวิถีแห่งสโลว์ไลฟ์ยามวันหยุด เมื่อมาถึงที่พักก็หากาแฟจิบให้ชุ่มคออีกสักแก้ว นี่แหละครับความสุขเล็ก ๆ ที่คุณดื่มได้
   ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติริมชายฝั่ง อยู่บริเวณท้ายชุมชนจุดเชื่อมต่อป่าโกงกางและ พรรณไม้อื่น ๆ หลายสิบไร่ รวมถึงลำคลองหลายสายที่ไหลผ่านไปบรรจบลงสู่ทะเล ภายในศูนย์ฯ มีการจัดป้ายความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้และสัตว์เป็นระยะ ทำให้นอกจากได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ชมความสมบูรณ์ของป่าแล้ว ยังได้เกร็ดความรู้กลับไปด้วย
      ร่วมกันฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมทางการท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมในพื้นที่ที่ถูกทำลายหรือแหล่งเสื่อมโทรม กิจกรรมแจวเรือหลักเดียวชมธรรมชาติป่าชายเลนเพื่อลดภาวะโลกร้อน เป็นต้น ซึ่งสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่นักท่องเที่ยวและคนในชุมชนควบคู่กันไปแล้วพบว่าสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ
     สังเกตได้จากการเพิ่มจำนวนของสัตว์น้ำที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ ของป่าชายเลน เช่น ปลาตีน ปูก้ามดาบมีเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นที่ศึกษาดูงานจัดการเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนให้แก่หลาย ๆ หน่วยงาน
ท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว     เดินมาสักระยะหากอยากหยุดนั่งพักริมน้ำในบรรยากาศสุดชิลก็สามารถเดินเลี้ยว ซ้ายไปบริเวณลานพักขนาดใหญ่ ซึ่งจะมองเห็นเส้นทางน้ำออกสู่ท้องทะเลผ่านป่าโกงกางหนา ทึบได้อีกด้วย ไม่เพียงในศูนย์ฯ จะชมพรรณไม้ต่าง ๆ ได้เท่านั้น หากเดินมาตามเส้นทางจนสุดสะพานไม้ในศูนย์ จะพบกับหอดูนก ที่สามารถขึ้นชมส่องดูนกที่มีสายพันธุ์กว่า 30 ชนิด รวมทั้งยืนชมผืนป่าสีเขียวที่ทอดตัวสุดสายตาได้อย่างเต็มอิ่ม
    ฝรั่งหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติเขาให้ความสำคัญกับกิจกรรมการดูนกเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นมีการแข่งขันว่าใครเห็นนกหายากได้มากกว่ากันเลยทีเดียว ความอุดมสมบูรณ์แห่งนี้จัดได้ว่าเป็นแหล่งหากินที่ค่อนข้างใหญ่ ไม่ว่าจะสัตว์บก สัตว์น้ำ หรือแม้แต่นก ระหว่างทางจะพบทั้งปูแสม ลิงแสม ปลาต่าง ๆ รวมถึงสารพัดนกไม่ว่าจะเป็นเหยี่ยวแดง นกเขาเปล้า และชนิดอื่น ๆ เรียกได้ว่ารื่นรมย์ยิ่งนักครับ
ท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว    กิจกรรมเด็ดของที่นี่คือการนั่งเรือหางยาวออกไปดูการทำประมงชายฝั่งทั้งวางลอบปูปลา ดูการเลี้ยงหอย หรือจะสนุกกับการลงเก็บหอย นักท่องเที่ยวสามารถนัดแนะเวลากับทางโฮมสเตย์ให้พาไปดูได้เลย ประมาณหกโมงเย็นถึงสองทุ่ม ลองจับกลุ่มล่องเรือออกมาตามแนวป่า จะสังเกตเห็นฝูงกาเป็นจุดดำ ๆ อยู่ตามกิ่งโกงกางเป็นจำนวนมาก รวมถึงอาจได้เห็นหิ่งห้อยที่เรืองแสงอยู่ตามต้นไม้
     บ้านน้ำเชี่ยวโฮมสเตย์ เป็นบ้านไม้ขนาดกลางดูกระทัดรัด สะอาด จัดตกแต่งเรียบง่าย เหมาะสำหรับกลุ่มเล็ก ๆ 4 - 5 คนต่อหนึ่งหลัง ที่นี่มีทั้งหมด 9 หลังด้วยกัน ทั้งห้องพัดลมและแอร์ ร่มรื่นไปด้วยธรรมชาติ และที่สำคัญอาหารยังอร่อยอีกด้วยครับ ปิดท้ายก่อนกลับบ้านต้องซื้องอบน้ำเชี่ยวติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านด้วยนะครับ เพราะเป็นสินค้าโอท็อปตัวเต็งของที่นี่เลยก็ว่าได้
      การเดินทาง สำหรับท่านที่นำรถมาเอง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3148 (ตราด - แหลมงอบ) เมื่อเดินทางมาถึง จังหวัดตราด ขับรถต่อมาตามทางที่จะไปท่าเรือแหลมงอบอีก 8 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านน้ำเชี่ยว ซึ่งมีป้ายบอกชัดเจน หรือหากเดินทางโดยรถประจำทางสายกรุงเทพ - ตราด ราคาประมาณ 250 บาท ใช้เวลาประมาณ 3 - 5 ชั่วโมง จากนั้นเหมารถสองแถวมาลงที่บ้านน้ำเชี่ยว ราคาประมาณ 100 บาท รถก็จะพามาจอดที่สะพานใกล้ทางเข้าเทศบาลน้ำเชี่ยว
     สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานพัฒนาการท่องเที่ยว เทศบาลบ้านน้ำเชี่ยว โทร. 0 - 3953 - 2959 หรือติดต่อห้องพักได้ที่ บ้านน้ำเชี่ยวโฮมสเตย์ โทร. 08 – 4892 - 5374
http://travel.kapook.com/view122163.html
อ้างอิง 

หมวกงอบ

หมวกงอบ / ของที่ระลึก บ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด

ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในเส้นทางไปหรือกลับ เกาะกูด แต่ถ้าพูดถึงหัตถกรรมอันเลื่องชื่อของตราดแล้วล่ะก็ ที่บ้านน้ำเชี่ยวถือว่าเป็นเบอร์ 1 ในด้านการทำผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้มาแต่โบราณเลยครับ


จากหมวกไม้ไผ่ของอาแปะ  มาอยู่เมืองไทยกลายเป็นงอบใบจาก

          ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว  นอกจากจะโด่งดังในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แล้ว  ยังมีชื่อเสียงในการผลิต “หมวกงอบ” เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ  หัตถกรรมงอบน้ำเชี่ยวนั้นมีความเป็นมาที่น่าสนใจคือ ในสมัยโบราณมีพ่อค้าชาวจีนมาติดต่อค้าขาย  อาแปะทั้งหลายได้ใส่หมวกทรงสูง  ชาวบ้านน้ำเชี่ยวเห็นว่ากันแดดกันฝนได้ดี  ด้วยภูมิปัญญาและไหวพริบจึงประยุกต์เอาใบจากที่เติบโตและหนาแน่นอยู่ริมคลองมาลองทำดูบ้าง  ซึ่งใบจากมีคุณสมบัติพิเศษคือ มีความทนทานและไม่เป็นเชื้อรา  ผลคืองอบที่ชาวบ้านประยุกต์ขึ้นมานั้นสามารถใช้งานได้อย่างทนแดดทนฝนเกินคาด
 

สุดยอดนักออกแบบงอบ  ต้องชาวบ้านน้ำเชี่ยว
 
          ทรงกระดองเต่า เหมาะสำหรับชาวนา  เพราะงอบทรงสี่เหลี่ยมเว้าด้านหน้านี้  ช่วงเวลาฝนตก น้ำฝนจะไหลลงบริเวณปลายเหลี่ยมลงสู่ท้องนา  เวลาที่ชาวนาดำต้นกล้าเรียงเป็นแถวหน้ากระดาน ช่วงขอบหมวกจะไม่ชนกัน  ส่วนเว้าโค้งด้านหน้าเพื่อให้เห็นท้องฟ้าและต้นข้าวตรงหน้าได้ชัดเจน

          ทรงกะโหลก หรือ ทรงหมวกทหาร  เหมาะกับชาวประมงออกทะเล  เพราะทรงนี้ไม่มีปีกกว้างที่ต้านลม  แต่จะมีเพียงปีกเล็ก ๆ ด้านหน้าสำหรับกันแดดแยงตา  ที่สำคัญเวลาน้ำเข้าเรือยังใช้วิดน้ำออกได้อีก

          ทรงสมเด็จ  เหมาะกับชาวสวนเช่นกัน  เพราะเป็นหมวกปีกกว้างทรงกลมที่มีรอยหยัก แต่ยอดไม่แหลม  เดิมชื่อ “ทรงนเรศวร” แต่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ทรงสมเด็จ”  เพื่อถวายแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ครั้งที่เสด็จมาเยือนบ้านน้ำเชี่ยวที่งานกาชาด ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวบ้านน้ำเชี่ยวยิ่งนัก

          ทรงยอดแหลมและทรงกระทะคว่ำ เหมาะสำหรับชาวสวนเพราะช่วยกันแดดกันฝนได้ดี



          สนใจกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สามารถสั่งซื้อได้ที่ คุณสุรัตนา  ภูมิมาโนช ประธานชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านน้ำเชี่ยว โทรศัพท์. 08-4892-5374

ขนมตังเม

ขนมน้ำตาลชักหรือตังเม  จังหวัดตราด

สถานที่ศุนย์รวมจิตใจ



มัสยิดอัลกุบรอ มัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี
        นอกจากจะเป็นชุมชนเก่าแก่และชุมชนสมานฉันท์ตัวอย่างแล้ว บ้านน้ำเชี่ยวยังมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยว โดยมีรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์(OVC) ปี 2549 และรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือ"ไทยแลนด์ทัวริสต์อะวอร์ด" จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ประเภทชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว ใน ปี 2550 เป็นตัวการันตีในคุณภาพ 
     
       ทัศนศึกษาบ้านน้ำเชี่ยว
       

       ด้วยความที่เป็นชุมชนเก่าแก่ และเป็นชุมชนมีเอกลักษณ์ แถมยังเป็นชุมชนใกล้ปากอ่าว ทำให้บ้านน้ำเชี่ยวมีสิ่งที่น่าสนใจทางการท่องเที่ยวหลายจุดด้วยกัน ซึ่งจุดเด่นๆก็มีดังนี้
     
       มัสยิดอัลกุบรอ : เป็นมัสยิดเก่าแก่แห่งแรกของภาคตะวันออกมีอายุกว่า 200 ปี สร้างโดยชาวมุสลิมที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมทีนั้นมัสยิดอัลกุบรอสร้างขึ้นแบบง่ายๆ ใช้ไม้โกงกางปักเป็นเขต 4 ต้น หลังคามุงด้วยใบปรงสานเป็นตับเหมือนตับจาก จากนั้นก็มีการปรับปรุงเรื่อยมากลายเป็นมัสยิดรูปทรงสมส่วนอย่างที่เห็นในปัจจุบันที่ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ริมคลองน้ำเชี่ยวให้ผู้ที่สัญจรผ่านไป-มา มองเห็นแต่ไกล 
“บ้านน้ำเชี่ยว” ชุมชนสงบงาม บนเส้นทางสู่เกาะช้าง จ.ตราด
วัดน้ำเชี่ยว
        วัดน้ำเชี่ยว : เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยพุทธ ตั้งอยู่ที่ ม.1 บ้านท้ายเขา(ตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลวัดน้ำเชี่ยว) วัดแห่งนี้ได้มีการบันทึกไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 28 ว่า เดิมชื่อ “วัดอินทาราม” เป็นวัดที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาประทับใน ร.ศ.130 วัดน้ำเชี่ยว ได้รับการคัดเลือกจากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างประจำปี 2548 ภายในวัดมีพระอุโบสถรูปทรงสวยงาม มีพระบรมสารีริกธาตุและพระประจำวันเกิดปางต่างๆให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้บูชา      
       
        วัดจีน : เป็นที่สวนรวมจิตใจของชาวไทยจีน พึ่งสร้างได้ประมาณ 1 ปี เพราะคนในตำบลน้ำเชี่ยวมีชาวไทยที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม ด้วย จึงต้องสร้าศูนย์รวมจิตใจ
อ้างอิง http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews

ข้าวเกรียบยาหน้า


ข้าวเกรียบยาหน้า
ข้าวเกรียบยาหน้านั้นมีที่มาที่ไป สมัยโบราณ ชาวมุสลิม (แขกจามเชื้อสายมลายู) ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านน้ำเชี่ยว ได้นำวัฒนธรรมการกินของตนเข้ามาด้วย นั่นคือ ข้าวเกรียบปากหม้อ ที่มีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อของชาวเวียดนาม ต่อมาเมื่อทำกินกันมากๆ แป้งที่เหลือจากการทำข้าวเกรียบ ถูกประยุกต์โดยนำไปตากแดดเป็นแผ่นแห้งๆ ขณะเดียวกัน ชาวมุสลิมเห็นว่าบ้านน้ำเชี่ยวนั้นมีมะพร้าว มีกุ้งเยอะ เลยนำมาดัดแปลงทำเป็นขนม โดยใช้น้ำตาลอ้อยมายาที่ตัวแป้งเพื่อให้มะพร้าวกับกุ้งติดกับตัวแป้ง จึงเป็นที่มาของชื่อ “ข้าวเกรียบยาหน้า” ขนมชนิดนี้ห่างหายไปนาน แต่ยังมีบางบ้านที่ยังทำให้ลูกให้หลานกินอยู่ เมื่อมีการท่องเที่ยวเข้ามา กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ อยากรักษาวัฒนธรรมนี้ไว้ จึงนำมาสาธิตให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิธีการทำและบอกเล่าประวัติความเป็นมาอย่างน่าภูมิใจ

หอยปากเป็ด

สถานที่ท่องเที่ยวทุกๆ ที่มักจะมีของกินพื้นถิ่น ที่มีวัตถุดิบในพื้นที่นั้น ที่นำมาปรุงเป็นเมนูสารพัดจนน่าลองลิ้มชิมรส เช่นที่ "บ้านน้ำเชี่ยว" ต.น้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ จ.ตราด ชุมชน 2 ศาสนา พุทธ-มุสลิม ก็มี เมนู “หอยปากเป็ดผัดฉ่า” รสอร่อยร้อนแรง ที่ได้จากการนำหอยปากเป็ดที่มีตามแหล่งธรรมชาติใกล้ๆ ชุมชน มาทำเป็นเมนูอาหารเสิร์ฟผู้ที่มาเยี่ยมเยือน
       
       “หอยปากเป็ด” หรือ “หอยราก” เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อยู่ในไฟลัมแบรคิโอโพดา (Brachiopoda) ซึ่งไม่ใช่สัตว์จำพวกหอย (Mollusca) แต่มีเปลือก 2 ฝาลักษณะคล้ายคลึงกับหอยกาบคู่ เปลือกมีสีเขียวอมน้ำตาลคล้ายหอยแมลงภู่ พบอาศัยฝังตัวอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลที่เป็นทรายปนเลน โดยใช้ส่วนอวัยวะที่เรียกว่ารากเป็นท่อนเอ็นยาวคล้ายหางช่วยในการเคลื่อนที่และฝังตัวลงในพื้นทราย โดยหอยปากเป็ดจะอาศัยตามพื้นท้องทะเลชายฝั่งตื้นๆ ที่เป็นโคลนแข็งหรือโคลนเลน